โดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่หลายอำเภอของจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สมบูรณ์ คือป่าต้นน้ำลำธารของลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ประพาสเขื่อนแก่งกระจานถึง 5 ครั้ง ในช่วงการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ระหว่างปี พ.ศ. 2504-2509 โดยมีการสร้างพลับพลาชั่วคราวริมน้ำซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ล้วน ๆ บริเวณหน้าเขาเจ้าและเขาดอกไม้ (หน่วยพิทักษ์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปัจจุบัน) และทรงสำราญพระราชอิริยาบถด้วยการล่องเรือตามลำน้ำเพชรบุรี บริเวณเขาเจ้า และทรงเสด็จฯ ออกให้ประชาชนได้เฝ้าชมพระบารมีโดยใกล้ชิดบริเวณพลับพลาชั่วคราวหน้าเขาเจ้า รวมทั้งทรงมีพระเมตตาพระราชทานสิ่งของแก่ชาวกะเหรี่ยงและครอบครัวคนงานที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ อีกด้วย
หลังจากสร้างเขื่อนเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2509
จากนั้นในปี พ.ศ. 2514 วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จประพาสเขื่อนแก่งกระจาน อีกครั้ง และทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ เรือนประทับ ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสำราญในพระอิริยาบถในแม่น้ำเพชรบุรี ต่อจากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสิ่งของแก่ราษฎรที่มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ ด้วย ระหว่างการเดินทางโดยเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระสำราญด้วยการทรงดนตรีตามเส้นทางตลอดสายในแม่น้ำเพชรบุรี
วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระราชวังไกลกังวล ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านหนองปืนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเสด็จถึงโรงเรียนบ้านสองพี่น้อง ทรงพระราชทานสมุดและดินสอแก่นักเรียนชายหญิงที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ
จากนั้นทรงไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน พระราชทานผ้าห่มแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน แล้วเสด็จฯ ต่อไปยังหมู่บ้านหนองปืนแตก ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทาน สมุด ดินสอ เสื้อผ้า เข็มขัด แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก่นักเรียนชายหญิง พระราชทานผ้าขาวม้าและกางเกงแก่ราษฎรชาย ยาตำราหลวงแก่ผู้ใหญ่บ้าน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานผ้านุ่ง ผ้าผูกผม สร้อยลูกปัด แก่ราษฎรหญิง และพระราชทานขนมแก่เด็กโดยทั่วถึงทุกคน
เมื่อพระราชทานสิ่งของเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชดำรัสกับผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด และกำนันตำบลสองพี่น้อง ถึงการประกอบอาชีพของราษฎร แล้วเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรหมู่บ้าน มีพระราชดำรัสกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอท่ายาง และกำนันตำบนสองพี่น้อง ถึงการเข้าถือสิทธิ์ครองที่ดิน การบำรุงทาง การเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์
วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งจากสนามกีฬาโรงเรียนวังไกลกังวล ไปทอดพระเนตรบริเวณต้นแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอำเภอท่ายางและอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และทรงเยี่ยมข้าราชการกรมชลประทานและข้าราชการจังหวัดเพชรบุรี ณ เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
และในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้รับสั่งให้ นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า เรื่องป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้มีการทำลายป่าเกิดขึ้น จากพระราชดำรัสดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำเพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้ต่าง ๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่ดังพระราชประสงค์
ในตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ พระองค์ท่านรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯ มาที่บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็มิได้ทรงแค่เสด็จฯ ประพาสเท่านั้น หากแต่เป็นการเสด็จฯ เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงพระราชทานสิ่งของที่จำเป็นแก่ผู้ที่ยากไร้ในเขตพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญ นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริแนะนำเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ มีกระแสพระราชดำรัสรับสั่งในเรื่องการดูแลรักษาป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี ตลอดจนกำชับขอให้เจ้าหน้าที่และราษฎรในพื้นที่ดูแลอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และช่วยกันรักษาธรรมชาติให้คงอยู่เพื่อเป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไป
ข้อมูลจากหนังสือ : อุทยานแห่งชาติ ใต้ร่มพระบารมีจักรีภูมิพล